พระสมเด็จวัดระฆังฯ ที่เจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ได้สร้างและบรรจุกรุไว้นั้น นับเวลาถึงปัจจุบันก็ไม่ต่ำกว่า 140 ปี หากไม่ได้นำมาล้างลอกรักออก พระที่พบจะเป็นพระที่ลงรัก และอาจจะมีปิดทองด้วย ด้วยช่วงของเวลาที่พระอยู่ในกรุ จะเห็นคราบกรุอยู่เหนือเนื้อรักเนื้อทอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระสมเด็จวัดระฆังฯ ที่บรรจุกรุวัดสะตือพระพุทธไสยาสน์ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยานั้น จะมีคราบกรุชัดเจน เพราะวัดอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก น้ำจะท่วมเกือบทุกปี คราบกรุที่พบจะมีเม็ดกรวดเม็ดทราย แม้แต่เศษกิ่งไม้ติดแน่นอยู่บนองค์พระ ลักษณะคราบกรุมีมากน้อยขึ้นอยู่กับจุดที่พระอยู่ในกรุ ว่าอยู่ในจุดที่น้ำท่วมถึงหรือพ้นน้ำ ซึ่งลักษณะคราบจะเป็นไปโดยธรรมชาติ
พระถูกพบครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. ๒๔๙๙ เมื่อครั้งจอมพลป. พิบูลสงครามนายกรัฐมนตรีในยุคนั้นได้เข้าไปบูรณะองค์พระพุทธไสยาสน์ และได้สร้างพระเจดีย์องค์ใหม่ขึ้นแทนองค์เดิมที่ตั้งอยู่ริมตลิ่ง ถูกทิ้งให้ทรุดโทรมเสียหายจากน้ำท่วม และได้นำพระที่พบในคราวนั้นบรรจุไว้ในเจดีย์องค์ใหม่ด้วย
คราบกรุที่ทับถมเป็นเวลานานจะติดแน่นอยู่กับเนื้อรักเนื้อทองขององค์พระเป็นลักษณะ "กรุทับทอง" แต่ก็พบว่าพระบางองค์มีทองปิดอยู่เหนือคราบกรุเป็นลักษณะ "ทองทับกรุ" จึงนับเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ได้ว่าเมื่อคราวเปิดกรุในครั้งแรกนั้น ได้มีการนำพระที่มีคราบกรุอยู่ มาปิดทองก่อนที่จะบรรจุกลับเข้าไว้ในเจดีย์องค์ที่สร้างขึ้นใหม่จริง และพระก็อยู่ในกรุมาจนกระทั่งมีการเปิดกรุในอีก 50 ปีให้หลัง จึงได้เห็นพระบางองค์มีทั้ง "กรุทับทอง ทองทับกรุ" ทับกันเป็นชั้นๆ ในองค์เดียว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น