วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2561


การพิจารณาธรรมชาติความเก่าของพระสมเด็จวัดระฆังฯ
( ตอนที่ ๑ )

พระสมเด็จวัดระฆังฯ ที่เจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สร้างขึ้นนั้น จัดเป็นพระเนื้อผง ซึ่งนับถึงปัจจุบันนี้พระมีอายุระหว่าง ๑๖๐-๒๐๐ ปีแล้ว โดยที่จากการศึกษาของโบราณจารย์ และบันทึกที่พบจากหลายที่ พระสมเด็จวัดระฆังฯ มีทั้งที่เจ้าประคุณสมเด็จท่านแจกให้ด้วยตัวเอง และบรรจุไว้ในที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับองค์ท่านเช่นในองค์พระใหญ่ พระประธานตามวัดที่ท่านสร้างไว้หลายองค์ อีกทั้งเจดีย์ และพระปรางค์ในวัดต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับท่านอีกหลายแห่ง




ภาพพระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์ต่างๆ
จากภาพจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถ

ภาพพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ต่างๆ
จากภาพจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถ


ในที่นี้จะขอกล่าวถึงวิธีการสร้างพระสมเด็จวัดระฆังฯ โดยสังเขป เพราะผู้อ่านบางท่านอาจจะยังไม่ทราบมาก่อน การสร้างพระสมเด็จวัดระฆังฯ นั้นกล่าวได้โดยย่อๆ ว่า เป็นการผสมมวลสารหลายๆ ชนิด โดยมีปูนเปลือกหอยเป็นมวลสารหลัก ตามที่บรมครูหลายท่านได้ศึกษาและกล่าวไว้ว่าวัสดุที่เจ้าประคุณสมเด็จท่านนำมาใช้ทำมวลสารมีมากกว่า ๒๐ ชนิด มีทั้งวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่าย ซึ่งจะเป็นพืชเกือบทั้งสิ้น ผงกฤติยาคมที่ใช้แท่งดินสอที่ปั้นจากดินสอพอง นำมาเขียนอักขระเลขยันต์ลงบนกระดานแล้วลบเอาผงมาเรียกว่า ผงวิเศษ หรือผงสมเด็จ และวัสดุที่ย่อยสลายยาก หรือไม่ย่อยสลาย เช่นปูนเปลือกหอย ผงดิน อัญมณีต่างๆ พระพิมพ์ที่แตกหัก เศษผ้า เป็นต้น นำวัสดุที่กล่าวมาข้างต้นนำมาบดให้ละเอียดแล้วตำรวมกันในครกโดยมีวัสดุที่ใช้เป็นตัวประสารเนื้อเช่น น้ำมันตังอิ๊ว น้ำอ้อยเคี่ยว ยางมะตูม เนื้อกล้วย ข้าวเหนียวเปียก เยื่อกระดาษที่ได้จาก กระดาษฟาง กระดาษสา ตำราหนังสือที่ชำรุดเอามาแช่จนเนื้อกระดาษเปื่อยแล้วนำเยื่อมาใช้ เมื่อคลุกเคล้าเนื้อจนผสมเข้ากันเป็นอย่างดีได้ที่แล้วก็ ปั้นเป็นลูกกลมๆ แล้วจึงนำไปกดลงบนแม่พิมพ์ โดยใช้ไม้กระดานตี และกดแรงๆ ให้เนื้อพระเข้าเต็มพิมพ์ติดชัดเจน เมื่อนำพระที่กดพิมพ์เรียบร้อยแล้วออกจากแม่พิมพ์ ขอบโดยรอบจะมีเนื้อส่วนเกินเป็นวงกลมแผ่ออกโดยรอบ จึงต้องนำมาตัดเนื้อส่วนเกินออกโดยตัดตามแนวเส้นบังคับพิมพ์ทั้ง ๔ ด้าน จึงเสร็จเป็นพระสมเด็จวัดระฆังฯ ทรงสี่เหลี่ยมอย่างที่เราเห็นกันอยู่





เมื่อเข้าใจหลักการสร้างโดยสังเขปแล้ว ก็จะวกเข้าเรื่องหลักการพิจารณาพระสมเด็จวัดระฆังฯ ซึ่งองค์ประกอบที่ต้องนำมาพิจารณาเมื่อมองจากวิธีการสร้างพระก็จะมี ๓ ส่วนคือ
๑.    เนื้อ มวลสาร
๒.    พิมพ์
๓.    ธรรมชาติความเก่า
แต่ในบทความนี้จะขอกล่าวเพียงองค์ประกอบเดียวคือ ข้อ ๓ ธรรมชาติความเก่า ด้วยเหตุผลที่ว่า ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันนี้ การทำพระเทียมสามารถทำเนื้อ และพิมพ์ได้ใกล้เคียงพระแท้มากขึ้น แต่ธรรมชาติความเก่า ซึ่งเกิดขึ้นเองตามอายุของพระนั้น ไม่สามารถทำ.ให้เหมือนของแท้ได้ เพราะมวลสารต่างๆ ที่ใช้สร้างพระสมเด็จวัดระฆังฯ นั้น ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แล้วทิ้งร่องรอยต่างๆ ไว้บนองค์พระ จึงเป็นองค์ประกอบที่สามารถใช้ตัดสินคัดแยกพระแท้พระเทียมได้เป็นอย่างดี ถ้าหากมีความเข้าใจกระบวนการเกิดของร่องรอยอันเป็นธรรมชาติ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างมีเงื่อนไข คือระยะเวลาอายุของพระ

( ยังมีต่อ.... )

หากเห็นว่าบทความนี้เป็นประโยชน์ ช่วยกด ติดตาม เพื่อรับข่าวสาร

ขอขอบคุณ และขออนุญาตเจ้าของภาพที่นำมาลงในบทความนี้ เพื่อนำมาใช้ประกอบเรื่องเผยแพร่เป็นวิทยาทานเท่านั้น




ไม่มีความคิดเห็น: