วันเสาร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2561

จากความตอนหนึ่งในตำราพิจารณาพระสมเด็จของ อ.ตรียัมปวาย ได้กล่าวไว้ว่า 

นายกนก สัชชุกร ผู้บันทึกประวัติของเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี ก็ได้เคยเรียนถามท่านเจ้าคุณธรรมถาวร ซึ่งเป็นศิษย์ของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ มีอายุขณะนั้นได้ 88 ปี ความว่า 

"ท่านทราบบ้างไหมว่า เจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี ได้บรรจุพระของท่านไว้ที่ใดบ้าง"

ท่านก็นิ่งอยู่ครู่หนึ่งแล้วจึงปฏิเสธว่าไม่ทราบ แต่ท่านได้กล่าวเปรยๆ ว่า 

"เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ท่านชื่อโต ท่านชอบสร้างพระองค์โตๆ"

หนึ่งในพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้สร้างไว้คือ พระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนปางพุทธไสยาสน์ ที่วัดสะตือ ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพระนอนใหญ่มีขนาดยาว 52 เมตร กว้าง 9 เมตร สูง 16 เมตร องค์พระโปร่ง ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2414 ก่อนที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ จะมรณภาพ 1 ปี และยังได้สร้างพระเจดีย์อีก 1 องค์ไว้ริมแม่น้ำป่าสัก สร้างเพื่อระลึกถึงโยมมารดาของท่าน

พระสมเด็จวัดระฆังฯ กรุวัดสะตือพระพุทธไสยาสน์ ถูกพบครั้งแรกเมื่อ จอมพล ป.พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรีได้เดินทางมาปิดทองพระนอนวัดสะตือซึ่งเวลานั้นพระนอนอยู่ในสภาพทรุดโทรมมากจึงบัญชาการให้กรมโยธาเทศบาลได้จัดการปฏิสังขรณ์พระนอนใหม่เมื่อ พ.ศ. 2499 และมีการย้ายเจดีย์ที่เดิมอยู่ริมแม่น้ำ นำมาสร้างใหม่ ตรงเศียรของพระนอน จึงได้พบพระสมเด็จพิมพ์ต่างๆ บรรจุอยู่

แต่ด้วยในสมัยนั้นพระสมเด็จวัดระฆังยังไม่ได้เป็นที่นิยมจึงไม่ได้เป็นข่าว พระสมเด็จที่ถูกพบจึงได้มีการแจกจ่ายเฉพาะในกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบูรณะในขณะนั้นเท่านั้น และหนึ่งในผู้ที่ได้รับพระกรุนี้ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นคือ พ.ต.อ. พันศักดิ์ วิเศษภักดี อดีตผู้บังคับการกองปราบ และหนึ่งในอัศวินแหวนเพชรของ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ

พระชุดนี้จึงได้ถูกเก็บรวบรวมไว้จำนวนหนึ่งจากทายาทของ พ.ต.อ. พันศักดิ์ เพื่อใช้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สำคัญในการศึกษาประวัติที่มาของพระสมเด็จวัดระฆังฯ บรรจุกรุวัดสะตือ หากปล่อยให้เปลี่ยนมือไปไม่รวบรวมบันทึกเอาไว้ เรื่องราวการศึกษาประวัติที่มาของกรุวัดสะตือในส่วนนี้ก็จะเลือนหายไปอย่างน่าเสียดาย







ไม่มีความคิดเห็น: