วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

-:- มวลสารทรายเงินทรายทอง -:-

ทรายเงินทรายทองเป็นมวลสารที่พบเห็นได้ยากมาก เพราะมีขนาดเล็กจนกล้องส่องพระที่มีกำลังขยาย 10-20x ไม่สามารถมองเห็นได้ ปกติมวลสารทรายเงินทรายทองนี้จะปรากฏให้เห็นได้ต้องมีแสงแดดตกกระทบในมุมที่สะท้อนเข้าตาพอดีเท่านั้นถึงจะเห็น และเมื่อพบแล้ว จะใช้กล้องส่องพระธรรมดาไปส่องหา ก็จะหาไม่เจออีก ผู้รู้ส่วนใหญ่จะทราบว่าถ้าจะส่องหาทรายเงินทรายทองควรจะเป็นช่วงเวลา 9.00-11.00 น. เพราะแดดในช่วงนี้ทำมุมตกกระทบที่เหมาะสม
ตัวอย่างในภาพนี้เป็นการใช้กล้องขยายไมโครสโคปที่มีกำลังขยาย 1000x
“มูลกรณีทรายเงินทรายทอง”
ท่านอาจารย์ตรียมปวาย ได้เขียนอธิบายไว้ในหน้าที่ ๔๐๔ ว่า
เป็นอิทธิวัสดุซึ่งได้กล่าวไว้แล้วในมูลกรณีของเนื้อ ทั้งนี้คตินิยมของการสร้างพระศักรพุทธปฏิมาสืบเนื่องมาจากโบราณไม่ว่าจะเป็นพระเนื้อโลหะหรืออโลหะก็ตาม มักจะเจือด้วยธาตุทองคำและเงินบริสุทธิ์เสมอ โดยถือว่าเป็นสินแร่ตระกูลสูงกว่าสามัญโลหะทั้งหลาย มีความศักดิ์สิทธิ์อิทธิพลโดยธรรมชาติที่เรียกว่า “ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้” นำมารีดเป็นแผ่นแล้วประสิทธิ์ด้วยพระยันต์ ๑๐๘ และนะปถมัง ๑๘ เป็นต้น แล้วจึงตะไบออกเป็นเกล็ดเป็นผง เจือผสมลงในมวลสารของเนื้อเป็นอิทธิวัสดุ
นอกจากนี้หน้าที่ ๔๐๓ เขียนถึง “ทรายเงินทรายทอง” ไว้ว่า
ทรายเงินทรายทอง คือ ผงตะใบจากแผ่นเงินแผ่นทองลงคุณพระ มีลักษณะเป็นผงที่ละเอียดมาก และเป็นมวลสารที่ปรากฏตัวน้อยที่สุด สังเกตเห็นได้เพียงบางองค์เท่านั้น สำหรับองค์ที่ปรากฏก็มีเพียงเกล็ดสองเกล็ดเท่านั้นเป็นอย่างมาก เพราะอาจจะจมอยู่ในเนื้อลึก หรือมิเช่นนั้นก็เป็นส่วนที่ใช้เจือผสมเนื้อเพียงเล็กน้อยมาแต่เดิม และที่ปรากฏมีของวัดระฆังเป็นส่วนมาก สำหรับบางขุนพรหมปรากฏน้อยมาก
สมเด็จวัดระฆัง ซึ่งมีแร่ทองบางสะพานฝังอยู่ทั้งด้านหน้าและด้านหลังนั้น จัดเป็นพระสมเด็จที่ว่ากันว่าหายากมาก เข้าใจว่ามีการจัดสร้างจำนวนน้อยมากๆ นับจากเวลาการสร้างพระสมเด็จเกือบสองทศวรรษแล้ว ถ้าจะเหลือคงเหลืออยู่ในความครอบครองของผู้สืบสกุลจากบรรดาเจ้านายชั้นสูงในสมัยก่อนเท่านั้น


วันพุธที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

-:- การถ่ายรูปพระสมเด็จ -:-

ถามเข้ามากันบ่อยๆ เรื่องการถ่ายภาพพระสมเด็จ จึงขอนำประสบการณ์ของตนเองมาเล่าสู่กันฟัง หลายๆ ท่านก็ถ่ายภาพได้สวยมาก และอาจจะมีเท็คนิคต่างกัน ก็ถือว่านี่เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาหาทางเลือกก็แล้วกัน
1. ช่วงเวลาที่ถ่ายรูปควรเป็นกลางวัน หรือใช้ไฟที่เป็น Cool white จะให้สีของมวลสารตรงตามความเป็นจริง อย่างเช่นมีจุดขาวๆ ก้อนผงกฤติยาคมในเนื้อพระ แต่ถ่ายไฟนีออนจะเป็นสีอมฟ้า แต่ถ้าสีที่ถ่ายออกมายังเพี้ยนจากความจริง ก็สามารถปรับที่ตัวกล้อง ซึ่งกล้องแบบ DSLR จะมีฟังชั่นในการปรับ White balance ได้


2. การเลือกพื้นฉากในการถ่าย ให้เลือกพื้นสีเดียว อย่าเลือกสีลายเพราะกล้องจะจับค่าเฉลี่ยของสีทำให้สีที่ถ่ายออกมาเพี้ยนได้ อย่างพระเนื้อวรรณะสีเหลือง แต่ถ่ายออกมาจะเป็นสีอมเขียว
3. การถ่ายภาพพระต้องการความนิ่ง จึงควรใช้ขาตั้งกล้องถ่ายรูป หรือใช้แท่นถ่ายภาพ ถ้ามีสายลั่นชัตเตอร์ด้วยจะเพิ่มความนิ่งเวลากดชัตเตอร์ หรือจะใช้การตั้งเวลาถ่ายอัตโนมัติ จะได้ภาพที่คมชัด
4. มุมกล้องให้วางพระราบไปกับพื้น แล้วจัดกล้องให้ขนานไปกับองค์พระ ในแบบ Topview หรือมองจากมุมบน
5. การจัดทิศที่แสงเข้า ให้แสงเข้าทางเดียวคือทางด้านบนซ้ายขององค์พระ (10-11 นาฬิกา) จะทำให้เห็นมิติขององค์พระ จะเห็นเงาดำในอีกฟากของแสง หรือของรักแร้ ความลึกของซุ้มเรือนแก้ว การนูนของฐานพระทั้ง 3 ชั้น อันเป็นเอกลักษณะของพระสมเด็จ
6. ความสว่าง อย่าให้สว่างจนเกิดพื้นที่สีขาวจั๊วบนองค์พระ เพราะจะดูรายละเอียดของเนื้อไม่ออก