วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

รักและการลงรักความสำคัญและคุณค่าในพุทธศิลปะ 

อ.ราม วัชรประดิษฐ์

           โบราณาจารย์และพุทธศาสนิกชนในอดีตได้อาศัย "รัก" ในการจัดสร้างพระพุทธรูป พระเครื่อง เครื่องรางของขลัง เพราะรักมีคุณสมบัติพิเศษ คือสามารถรักษาเนื้อและสภาพขององค์พระให้สมบูรณ์แม้จะผ่านกาลเวลาเนิ่นนาน  ซึ่งมีทั้งรักดิบ รักน้ำเกลี้ยง และรักสมุก
            ดังนั้นเราจึงมักพบว่ามีการนำพระเครื่องมาจุ่มรัก หรือ ชุบรัก ซึ่งหมายถึง การนำพระทั้งองค์จุ่มลงไปใน "รักดิบ" หรือ "ยางรัก" แล้วผึ่งให้แห้ง บางครั้งเมื่อผึ่งองค์พระพอแห้งหมาดๆ ก็จะนำทองคำเปลวมาติดเป็นพุทธบูชา จะสามารถติดได้แน่นสนิทสวยสดงดงามเป็นอันมาก   
     
            เป็นที่น่าแปลกใจที่ "พระแท้" เท่าที่พบโดยเฉพาะพระเครื่อง พระปิดตา และเครื่องรางประเภทตะกรุด ลูกอมของเกจิอาจารย์ผู้โด่งดังนั้น มักยึดหลักการดู "รัก" เป็นส่วนใหญ่ จากความพยายามค้นและคว้ามานั้นพบว่าพระคณาจารย์ตั้งแต่ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนใหญ่ที่สร้างพระเครื่องและของขลังพากันใช้ "รักจีน" ซึ่งเป็นรักที่มีคุณภาพสูงเป็นหลัก
            เมื่อดูจากบริบททางประวัติศาสตร์ก็จะพบว่า การนิยมศิลปะจีนในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ ๕ จุดที่น่าสังเกตคือ บรรดาคณาจารย์ที่ใช้ "รักจีน" นั้นล้วนแต่เป็นผู้เกี่ยวข้องเป็นอาจารย์ของบรมวงศานุวงศ์หรือชนชั้นสูงในระยะนั้นแทบทั้งสิ้น เช่น เจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า เป็นต้น
            ดังนั้นการจำแนก "รักจีน" จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญในการพิจารณา “พระแท้” เพราะคุณสมบัติของ "รักจีน" แตกต่างจาก "รักไทย" ดังนี้
 - รักจีนมีสีน้ำตาลอมแดง ส่วนรักไทยสีดำสนิท   
 - รักจีนจะมีความบริสุทธิ์ของยางรักมากกว่ารักไทย จะไม่ปนเปื้อนด้วยเศษไม้หรือเป็นฟองพรุนของอากาศ
 -เนื้อรักไทยจะแห้งตัวสม่ำเสมอ ไม่หดตัวเป็นริ้วคลื่น อันส่งผลให้เมื่อล้างรักแล้วจะไม่เกิดการแตกลายงา
 -รักจีนมีคุณสมบัติพิเศษคือ แห้งเร็ว ดังนั้นจะพบพระเครื่องบางองค์ "จุ่มรัก" หลายครั้ง ซึ่งหากเป็นรักไทยจะไม่พบการจุ่มเป็นชั้นๆ
 - เนื้อของรักจีนจะมีความละเอียดเหนียวกว่า และละลายตัวในเมทิลแอลกอฮอล์เร็วกว่ารักไทย
 -รักจีนจะมีอายุคงทนยาวนานมาก จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดค้นพบจะเห็นเครื่องโต๊ะและเครื่องราชกกุธภัณฑ์หลายประเภทของจีนมีอายุนับพันปี ใช้ยางรักชุบทาเคลือบไว้ ส่วนรักอื่นๆ นั้นมีอายุไม่ยาวนานเท่ารักจีน มักจะเกิดการบวมและปริร่อนเป็นแผ่นใหญ่ โดยรักไทยจะปริจากภายนอกเข้าหาภายใน ส่วนรักจีนหากเกิดการปริไม่ว่าจะโดยอายุหรือการใช้สารเคมี จะปริจากภายในออกสู่ภายนอก ในกรณีตรวจสอบรักจีนเก่า จะพบว่าไม่ดูดซึมน้ำ หากเป็นรักอื่นน้ำจะค่อยๆ ซึมลงตามรอยปริเล็กๆ (ซึ่งอาจจะเกิดจากการจุ่มรักหลายชั้น) 
            ข้อสังเกตประการหนึ่งเกี่ยวกับพระเครื่องลงรักนั้น จะมีอายุในราวปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เท่านั้น และจะไม่นิยมลงรักในพระเนื้อดิน ส่วนคราบที่เรียกว่า "รารัก" นั้น ความจริงคือ "รา" อันเกิดจากวัชพืชที่อาศัยเนื้อพระ (โดยเฉพาะพระเนื้อดิน) ที่มีความชื้นพอเหมาะ ทำให้เชื้อรานั้นเจริญเติบโต ไม่ใช่เกิดจากรักแต่อย่างใด ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนแล้วแต่แสดงว่ารักนั้นมีความสำคัญกับงานพุทธศิลปะอย่างยิ่ง
ที่มา : http://www.komchadluek.net/news/lifestyle/109491










ไม่มีความคิดเห็น: