วันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2561


" เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ท่านชื่อโต ท่านชอบสร้างพระองค์โตๆ "
                  
                  คำกล่าวเปรยของท่านเจ้าคุณธรรมถาวร ซึ่งเป็นศิษย์ของเจ้าพระคุณสมเด็จโตประโยคนี้ ท่านผู้นิยมพระสมเด็จวัดระฆังฯ คงจะต้องเคยได้ยิน ได้อ่านผ่านตามาบ้าง คำบอกเล่านี้พบอยู่ในบันทึกประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ที่บันทึกโดยนายกนก สัชชุกร ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ซึ่งขณะนั้นท่านเจ้าคุณธรรมถาวรมีอายุ ๘๘ ปี


                  
                  นับมาถึงปัจจุบันนี้ คำกล่าวเปรยของท่านเจ้าคุณที่เปรียบเสมือนเป็นคำบอกใบ้ลายแทงถึงกรุพระสมเด็จวัดระฆังฯ ที่เจ้าประคุณสมเด็จท่านนำพระไปบรรจุไว้นั้น ก็เริ่มปรากฏออกมาให้เห็นเป็นประจักษ์ความจริงเป็นลำดับมา ส่วนเรื่องความศรัทธา ความเชื่อของแต่ละคนนั้น เป็นเรื่องของวาสนาบารมีของแต่ละคนเช่นกัน ทำกันมาอย่างไร ก็ได้ไปอย่างนั้น
                  
                  บทความนี้ขอนำบทความของท่านอ.รังสรรค์ ต่อสุวรรณ ที่กล่าวถึงพระสมเด็จกรุวัดสะตือมาเผยแพร่ให้ผู้สนใจอีกครั้งหนึ่ง ขออนุญาตท่านอ.รังสรรค์ และขอขอบคุณเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้ พระที่ท่านอ.รังสรรค์นำมาบรรยายในบทความนี้ เป็นพระสมเด็จวัดสะตือของท่านอ.ปรีชา เอี่ยมธรรม ซึ่งทั้งท่านอ.รังสรรค์ และอ.ปรีชา ล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องพระเครือง ด้วยประสบการณ์อันยาวนานในวงการนี้ จนเป็นที่ยอมรับเป็นที่รู้จักนับถือในฐานะครู ของวงการพระเครื่องในประเทศไทย




บทความนี้จากเพจ รังสรรค์ ต่อสุวรรณ/Rangsan Torsuwan fanpage บันทึกเมื่อวันที่  25 กรกฎาคม 2016

พระสมเด็จวัดสะตือ จังหวัดอยุธยา ของสมเด็จพุฒาจารย์ โต พรหมรังษี 

วันนี้ผมอยากจะเล่าถึงเรื่อง พระสมเด็จของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ โต พรหมรังษี พระเถราจารย์ที่คนไทยทั้งหลายให้ความเคารพศรัทธาเป็นอย่างสูงและตลอดกาล ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ เป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆษิตาราม ท่านได้เคยสร้างพระบูชาองค์ใหญ่ ซึ่งพวกเราเรียกกันว่า หลวงพ่อโตอยู่ทั้งหมด 3 องค์ ได้แก่พระบูชาหลวงพ่อโต ที่วัดเกศไชโย จังหวัดอ่างทอง ซึ่งถือเป็นพระปูนปั้นองค์ใหญ่มากที่สุดในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระหลวงพ่อโตองค์นี้ต้องใช้เวลาสร้างอยู่หลายปี จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่สามารถนิมนต์ท่านเจ้าประคุณสมเด็จโตมาเทศน์ในพระบรมมหาราชวังได้เป็นระยะเวลานาน


ที่วัดเกศไชโย ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯท่านได้สร้าง พระสมเด็จวัดเกศไชโยขึ้น ซึ่งเป็นพระสมเด็จที่พุทธศาสนิกชนมีความเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง ในวงการพระเครื่องถือว่าเป็นพระสมเด็จยอดนิยมเป็นอันดับสามรองลงมาจาก พระสมเด็จวัดระฆังโฆษิตาราม และพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านยังได้เดินธุดงก์ไปยังอยุทธยา ซึ่งเป็นบ้านเกิดของโยมแม่ ท่านจึงได้สร้างพระนอนปูนปั้นองค์ขนาดใหญ่รองมาจาก พระนอนปูนปั้นที่วัดขุนอินทประมูล ในจังหวัดอ่างทอง โดยการสร้างพระนอนที่อยุธยานั้น เป็นการสร้างพระที่วัดสะตือ 

เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2497 พระนอนที่วัดสะตือได้เกิดชำรุดเสียหายหนัก จึงต้องบูรณะสร้างขึ้นใหม่ จึงได้พบพระเครื่องปูนขาวรูปพระสมเด็จวัดระฆังโฆษิตารามเป็นจำนวนมาก เราเรียกกันว่า พระสมเด็จวัดสะตือ

สำหรับพระหลวงพ่อโตองค์ยืนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งท่านเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ โต พรหมรังษีได้สร้างเป็นองค์สุดท้าย อยู่ที่วัดอินทร์ กรุงเทพมหานคร โดยที่ยังไม่ปรากฎว่ามีการขุดพบกรุที่บรรจุพระเครื่องพิมพ์ใดในพระหลวงพ่อโตองค์ยืนในกรุงเทพมหานครแต่อย่างใด

สำหรับพระสมเด็จวัดสะตือนั้น ค้นพบบรรจุอยู่ในองค์พระนอน ซึ่งถูกแช่น้ำมาโดยตลอด พระสมเด็จวัดสะตือในสมัยนั้นลือกันว่า ท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม และท่านนายพลอีกหลายท่านครอบครองอยู่ มีพระจำนวนน้อยที่ออกมาสู่มือชาวบ้าน จึงมีผู้ที่พบเห็นน้อยมากครับ

ฯพณฯ จอมพล ป. ได้เคยกราบนมัสการหลวงปู่นาค วัดระฆังโฆษิตาราม ได้ฟังคำชี้แจงจากหลวงปู่ว่า ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ โต พรหมรังษี เป็นผู้สร้างพระเครื่องพิมพ์สมเด็จวัดระฆังโฆษิตาราม ทั้งหมดพระที่สร้างในสมัยนั้น ส่วนที่เหลือบางส่วน ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้เก็บไว้ในฝ้าเพดานพระอุโบสถ วัดระฆังโฆษิตาราม จึงเป็นเหตุให้พระสมเด็จวัดสะตือเป็นพระที่มีพุทธศิลป์ มวลสารการสร้างพระ ตลอดจนการหดตัว และตำหนิศิลปะแม่พิมพ์เหมือนกับ พระสมเด็จวัดระฆังโฆษิตารามที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้สร้างขึ้นครับ

เมื่อพระนอนปูนปั้นองค์ใหญ่ที่วัดสะตือ จังหวัดอยุธยา สร้างโดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ โต พรหมรังษี เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆษิตาราม เพราะฉะนั้นพระผงสมเด็จกรุวัดสะตือซึ่งขุดได้จากภายในองค์พระนอนย่อมต้องเป็นพระเครื่องที่สร้างโดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ อย่างไม่ต้องสงสัย บรรดาเซียนปากสุนัขไม่ต้องสงสัยในประเด็นว่าสร้างโดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯหรือไม่ องค์พระนอนนั้นยาวสามสิบกว่าเมตร จัดเป็นพระนอนที่ใหญ่มากเป็นอันดับสองในประเทศไทย พระสมเด็จที่ฝังอยู่ในกรุภายในองค์พระนอนนั้น ถูกแช่น้ำยาวนานมากว่าร้อยปี เพราะที่อยุธยาจะมีน้ำท่วมทุกปี เมื่อหลายปีก่อนมีเพื่อนผมไปนำพระสมเด็จกรุวัดสะตือมาให้ดู เห็นเป็นพระผุ ๆ พัง ๆ ขี้ดินผสมทราบเต็มไปทั้งองค์ดูแทบจะไม่เป็นพระเครื่องหรือพระสมเด็จเลย ต้องอาศัยอาราธณาเอาครับ

วันนี้พี่เปี๊ยก ปรีชา เอี่ยมธรรม ได้นำพระสมเด็จวัดสะตือมาให้ผมดูองค์หนึ่ง เป็นพระที่สวยงามมากครับ เห็นเป็นพระผงสมเด็จเนื้อขาว แต่ไม่เห็นเนื้อในจึงยังไม่สามารถวิเคราะห์ว่า เนื้อมวลสารจะเหมือนพระสมเด็จวัดระฆังโฆษิตารามหรือไม่ มีเศษน้ำรักจับอยู่ประปราย และที่สำคัญที่สุดก็คือ มีคราบแคลเซียม จับเป็นแผ่นทั่วทั้งองค์พระ สีจึงกลับกลายเป็นสีเทา และพุทธศิลป์เป็นพระสมเด็จวัดระฆังโฆษิตาราม พิมพ์ใหญ่ ซุ้มครอบแก้วเป็นซุ้มหวายผ่าครึ่งที่เส้นใหญ่ จุดโค้งของซุ้มครอบแก้วด้านขวาขององค์พระประธานช่วงบนโค้งจะเอียงเข้าในองค์พระประธาน ตามพุทธศิลป์ของพระสมเด็จวัดระฆังโฆษิตาราม พิมพ์ใหญ่ทั้ง 4 พิมพ์ครับ

เส้นกรอบแม่พิมพ์กรอบนอกด้านซ้ายมือขององค์พระประธาน จะมีเส้นกรอบพิมพ์จากด้านบนวิ่งลงมาจรดเส้นซุ้มครอบแก้ว บริเวณแขนใกล้ข้อศอกของพระประธาน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของพระสมเด็จวัดระฆังโฆษิตาราม พิมพ์ใหญ่ทั้ง 4 พิมพ์เช่นกัน พุทธศิลป์ขององค์พระจะล่ำสันและน่าจะเป็นศิลปะของพระสมเด็จวัดระฆังโฆษิตาราม พิมพ์ใหญ่ พิมพ์ A ซึ่งจะมีเส้นแซมใต้ฐานเส้นบาง ๆ 

สำหรับรายละเอียดตำหนิแม่พิมพ์เช่นหูติดรำไรก็ดี เม็ดพระธาตุก็ดี รอยรูพรุนของเข็มก็ดี รอยหนอนด้นก็ดี หรือรอยปูไต่ก็ดีนั้น ล้วนมองไม่เห็นชัด เพราะเคลือบด้วยผิวแคลเซียม และพิมพ์หลังก็มีกรวดทรายจับอยู่เต็มทั้งองค์ครับ ผิวแคลเซียมเป็นหินปูนซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เมื่อองค์พระอยู่ในกรุมีอายุร้อยกว่าปี ของปลอมจะทำขึ้นไม่ได้เลยครับ



วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2561


การพิจารณาธรรมชาติความเก่าของพระสมเด็จวัดระฆังฯ
( ตอนที่ ๑ )

พระสมเด็จวัดระฆังฯ ที่เจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สร้างขึ้นนั้น จัดเป็นพระเนื้อผง ซึ่งนับถึงปัจจุบันนี้พระมีอายุระหว่าง ๑๖๐-๒๐๐ ปีแล้ว โดยที่จากการศึกษาของโบราณจารย์ และบันทึกที่พบจากหลายที่ พระสมเด็จวัดระฆังฯ มีทั้งที่เจ้าประคุณสมเด็จท่านแจกให้ด้วยตัวเอง และบรรจุไว้ในที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับองค์ท่านเช่นในองค์พระใหญ่ พระประธานตามวัดที่ท่านสร้างไว้หลายองค์ อีกทั้งเจดีย์ และพระปรางค์ในวัดต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับท่านอีกหลายแห่ง




ภาพพระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์ต่างๆ
จากภาพจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถ

ภาพพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ต่างๆ
จากภาพจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถ


ในที่นี้จะขอกล่าวถึงวิธีการสร้างพระสมเด็จวัดระฆังฯ โดยสังเขป เพราะผู้อ่านบางท่านอาจจะยังไม่ทราบมาก่อน การสร้างพระสมเด็จวัดระฆังฯ นั้นกล่าวได้โดยย่อๆ ว่า เป็นการผสมมวลสารหลายๆ ชนิด โดยมีปูนเปลือกหอยเป็นมวลสารหลัก ตามที่บรมครูหลายท่านได้ศึกษาและกล่าวไว้ว่าวัสดุที่เจ้าประคุณสมเด็จท่านนำมาใช้ทำมวลสารมีมากกว่า ๒๐ ชนิด มีทั้งวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่าย ซึ่งจะเป็นพืชเกือบทั้งสิ้น ผงกฤติยาคมที่ใช้แท่งดินสอที่ปั้นจากดินสอพอง นำมาเขียนอักขระเลขยันต์ลงบนกระดานแล้วลบเอาผงมาเรียกว่า ผงวิเศษ หรือผงสมเด็จ และวัสดุที่ย่อยสลายยาก หรือไม่ย่อยสลาย เช่นปูนเปลือกหอย ผงดิน อัญมณีต่างๆ พระพิมพ์ที่แตกหัก เศษผ้า เป็นต้น นำวัสดุที่กล่าวมาข้างต้นนำมาบดให้ละเอียดแล้วตำรวมกันในครกโดยมีวัสดุที่ใช้เป็นตัวประสารเนื้อเช่น น้ำมันตังอิ๊ว น้ำอ้อยเคี่ยว ยางมะตูม เนื้อกล้วย ข้าวเหนียวเปียก เยื่อกระดาษที่ได้จาก กระดาษฟาง กระดาษสา ตำราหนังสือที่ชำรุดเอามาแช่จนเนื้อกระดาษเปื่อยแล้วนำเยื่อมาใช้ เมื่อคลุกเคล้าเนื้อจนผสมเข้ากันเป็นอย่างดีได้ที่แล้วก็ ปั้นเป็นลูกกลมๆ แล้วจึงนำไปกดลงบนแม่พิมพ์ โดยใช้ไม้กระดานตี และกดแรงๆ ให้เนื้อพระเข้าเต็มพิมพ์ติดชัดเจน เมื่อนำพระที่กดพิมพ์เรียบร้อยแล้วออกจากแม่พิมพ์ ขอบโดยรอบจะมีเนื้อส่วนเกินเป็นวงกลมแผ่ออกโดยรอบ จึงต้องนำมาตัดเนื้อส่วนเกินออกโดยตัดตามแนวเส้นบังคับพิมพ์ทั้ง ๔ ด้าน จึงเสร็จเป็นพระสมเด็จวัดระฆังฯ ทรงสี่เหลี่ยมอย่างที่เราเห็นกันอยู่





เมื่อเข้าใจหลักการสร้างโดยสังเขปแล้ว ก็จะวกเข้าเรื่องหลักการพิจารณาพระสมเด็จวัดระฆังฯ ซึ่งองค์ประกอบที่ต้องนำมาพิจารณาเมื่อมองจากวิธีการสร้างพระก็จะมี ๓ ส่วนคือ
๑.    เนื้อ มวลสาร
๒.    พิมพ์
๓.    ธรรมชาติความเก่า
แต่ในบทความนี้จะขอกล่าวเพียงองค์ประกอบเดียวคือ ข้อ ๓ ธรรมชาติความเก่า ด้วยเหตุผลที่ว่า ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันนี้ การทำพระเทียมสามารถทำเนื้อ และพิมพ์ได้ใกล้เคียงพระแท้มากขึ้น แต่ธรรมชาติความเก่า ซึ่งเกิดขึ้นเองตามอายุของพระนั้น ไม่สามารถทำ.ให้เหมือนของแท้ได้ เพราะมวลสารต่างๆ ที่ใช้สร้างพระสมเด็จวัดระฆังฯ นั้น ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แล้วทิ้งร่องรอยต่างๆ ไว้บนองค์พระ จึงเป็นองค์ประกอบที่สามารถใช้ตัดสินคัดแยกพระแท้พระเทียมได้เป็นอย่างดี ถ้าหากมีความเข้าใจกระบวนการเกิดของร่องรอยอันเป็นธรรมชาติ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างมีเงื่อนไข คือระยะเวลาอายุของพระ

( ยังมีต่อ.... )

หากเห็นว่าบทความนี้เป็นประโยชน์ ช่วยกด ติดตาม เพื่อรับข่าวสาร

ขอขอบคุณ และขออนุญาตเจ้าของภาพที่นำมาลงในบทความนี้ เพื่อนำมาใช้ประกอบเรื่องเผยแพร่เป็นวิทยาทานเท่านั้น




แต่ก่อนแต่ไรมาการพิจารณาพระเครื่องเป็นเรื่องของภูมิปัญญา ประสบการณ์ความรู้ของแต่ละบุคคล พระองค์เดียวกันให้ผู้รู้ หรือที่เรียกกันว่าเซียนหลายๆ คนพิจารณา ก็มีความเห็นแตกต่างกันไป

แต่โลกทุกวันนี้มีความเจริญทางเทคโนโลยีมาก ดังจะเห็นว่ามีวิทยาการใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่นเครื่องตรวจมวลสาร น้ำยาเคมี เป็นต้น ที่สามารถนำมาตรวจหาอายุของมวลสาร เป็นเครื่องมือพิสูจน์ทราบอีกทางหนึ่ง ซึ่งคนที่เชื่อถือในหลักการทางวิทยาศาสตร์ก็ให้การยอมรับ โดยเฉพาะผู้นิยมพระเครื่องเมืองไทยที่เป็นชาวต่างประเทศ แต่ความเชื่อก็เป็นเรื่องของปัจเจก แล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละบุคคล

ข้อเขียนนี้ก็เพียงนำเสนอในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้อ่านจะได้มีความรู้เพิ่มเติมเท่านั้น และขออนุญาตท่านอ.ปรีชา เอี่ยมธรรม ที่จะนำบางส่วนจากหนังสือ "อาณาจักรพระเครื่อง ฉบับพระเบญจภาคี" ของท่านมาเผยแพร่เป็นวิทยาทานให้แก่ผู้สนใจ



ท่านอ.ปรีชา เอี่ยมธรรมได้นำพระเครื่องจำนวนหนึ่งไปตรวจหาอายุความเก่าด้วยวิธีคาร์บอน 14 หรือที่เรียกกันว่า C14 ซึ่งมีพระสมเด็จวัดระฆังฯ ไปตรวจครั้งนั้นด้วย 2 องค์ ขอตัดบางส่วนจากหนังสือมาดังนี้



" การพิจารณาพิสูจน์ว่า พระสมเด็จวัดระฆัง เก่า ใหม่ เก๊ แท้ เป็นอย่างไรนั้น ต้องอาศัยการพิสูจน์ทราบทางวิทยาศาสตร์เป็นตัวช่วยสุดท้ายที่สังคมโลกเขาเชื่อถือ และรับรองอย่างเป็นทางการ นั่นก็คือการพิสูจน์ทราบอายุความเก่าด้วยวิธีคาร์บอน 14 หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า C14 และเป็นที่เชื่อถืออย่างเป็นทางการในวงการพระเครื่องจากการพิสูจน์ทราบ พระสมเด็จวัดระฆังองค์ยี่สิบล้าน และพระขุนแผนเคลือบกรุใหม่ และผมได้นำเอาพระสมเด็จวัดระฆัง ๒ องค์ ส่งไปพิสูจน์ทราบตามขบวนการ C14 จากสถาบันนิวเคลียร์แห่งชาติ อ.องครักษ์ จ.นครนายก ตามขั้นตอน และผลออกมาดังนี้ พระสมเด็จวัดระฆัง ๒ องค์ มีอายุ ๑๘๐ ปี บวกลบ ๙ ปี "






รักและการลงรักความสำคัญและคุณค่าในพุทธศิลปะ 

อ.ราม วัชรประดิษฐ์

           โบราณาจารย์และพุทธศาสนิกชนในอดีตได้อาศัย "รัก" ในการจัดสร้างพระพุทธรูป พระเครื่อง เครื่องรางของขลัง เพราะรักมีคุณสมบัติพิเศษ คือสามารถรักษาเนื้อและสภาพขององค์พระให้สมบูรณ์แม้จะผ่านกาลเวลาเนิ่นนาน  ซึ่งมีทั้งรักดิบ รักน้ำเกลี้ยง และรักสมุก
            ดังนั้นเราจึงมักพบว่ามีการนำพระเครื่องมาจุ่มรัก หรือ ชุบรัก ซึ่งหมายถึง การนำพระทั้งองค์จุ่มลงไปใน "รักดิบ" หรือ "ยางรัก" แล้วผึ่งให้แห้ง บางครั้งเมื่อผึ่งองค์พระพอแห้งหมาดๆ ก็จะนำทองคำเปลวมาติดเป็นพุทธบูชา จะสามารถติดได้แน่นสนิทสวยสดงดงามเป็นอันมาก   
     
            เป็นที่น่าแปลกใจที่ "พระแท้" เท่าที่พบโดยเฉพาะพระเครื่อง พระปิดตา และเครื่องรางประเภทตะกรุด ลูกอมของเกจิอาจารย์ผู้โด่งดังนั้น มักยึดหลักการดู "รัก" เป็นส่วนใหญ่ จากความพยายามค้นและคว้ามานั้นพบว่าพระคณาจารย์ตั้งแต่ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนใหญ่ที่สร้างพระเครื่องและของขลังพากันใช้ "รักจีน" ซึ่งเป็นรักที่มีคุณภาพสูงเป็นหลัก
            เมื่อดูจากบริบททางประวัติศาสตร์ก็จะพบว่า การนิยมศิลปะจีนในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ ๕ จุดที่น่าสังเกตคือ บรรดาคณาจารย์ที่ใช้ "รักจีน" นั้นล้วนแต่เป็นผู้เกี่ยวข้องเป็นอาจารย์ของบรมวงศานุวงศ์หรือชนชั้นสูงในระยะนั้นแทบทั้งสิ้น เช่น เจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า เป็นต้น
            ดังนั้นการจำแนก "รักจีน" จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญในการพิจารณา “พระแท้” เพราะคุณสมบัติของ "รักจีน" แตกต่างจาก "รักไทย" ดังนี้
 - รักจีนมีสีน้ำตาลอมแดง ส่วนรักไทยสีดำสนิท   
 - รักจีนจะมีความบริสุทธิ์ของยางรักมากกว่ารักไทย จะไม่ปนเปื้อนด้วยเศษไม้หรือเป็นฟองพรุนของอากาศ
 -เนื้อรักไทยจะแห้งตัวสม่ำเสมอ ไม่หดตัวเป็นริ้วคลื่น อันส่งผลให้เมื่อล้างรักแล้วจะไม่เกิดการแตกลายงา
 -รักจีนมีคุณสมบัติพิเศษคือ แห้งเร็ว ดังนั้นจะพบพระเครื่องบางองค์ "จุ่มรัก" หลายครั้ง ซึ่งหากเป็นรักไทยจะไม่พบการจุ่มเป็นชั้นๆ
 - เนื้อของรักจีนจะมีความละเอียดเหนียวกว่า และละลายตัวในเมทิลแอลกอฮอล์เร็วกว่ารักไทย
 -รักจีนจะมีอายุคงทนยาวนานมาก จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดค้นพบจะเห็นเครื่องโต๊ะและเครื่องราชกกุธภัณฑ์หลายประเภทของจีนมีอายุนับพันปี ใช้ยางรักชุบทาเคลือบไว้ ส่วนรักอื่นๆ นั้นมีอายุไม่ยาวนานเท่ารักจีน มักจะเกิดการบวมและปริร่อนเป็นแผ่นใหญ่ โดยรักไทยจะปริจากภายนอกเข้าหาภายใน ส่วนรักจีนหากเกิดการปริไม่ว่าจะโดยอายุหรือการใช้สารเคมี จะปริจากภายในออกสู่ภายนอก ในกรณีตรวจสอบรักจีนเก่า จะพบว่าไม่ดูดซึมน้ำ หากเป็นรักอื่นน้ำจะค่อยๆ ซึมลงตามรอยปริเล็กๆ (ซึ่งอาจจะเกิดจากการจุ่มรักหลายชั้น) 
            ข้อสังเกตประการหนึ่งเกี่ยวกับพระเครื่องลงรักนั้น จะมีอายุในราวปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เท่านั้น และจะไม่นิยมลงรักในพระเนื้อดิน ส่วนคราบที่เรียกว่า "รารัก" นั้น ความจริงคือ "รา" อันเกิดจากวัชพืชที่อาศัยเนื้อพระ (โดยเฉพาะพระเนื้อดิน) ที่มีความชื้นพอเหมาะ ทำให้เชื้อรานั้นเจริญเติบโต ไม่ใช่เกิดจากรักแต่อย่างใด ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนแล้วแต่แสดงว่ารักนั้นมีความสำคัญกับงานพุทธศิลปะอย่างยิ่ง
ที่มา : http://www.komchadluek.net/news/lifestyle/109491










วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

มีเรื่องเล่าไว้ในหนังสือ ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) จากบันทึกของมหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา (สอน โลหะนันท์) ว่า

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ครั้งเมื่อท่านยังเป็นมหาโตอยู่นั้น ท่านได้เอาปูนมาปั้นเป็นลูกอมขนาดประมาณเท่าหัวแม่มือ เมื่อท่านปลุกเสกแล้วให้ลูกศิษย์วัดไปใช้เป็นเครื่องรางของขลัง ปรากฏว่ามีพุทธานุภาพอยู่ยงคงกระพันเป็นมหัศจรรย์เป็นเดิมพันอยู่ก่อนแล้ว

ต่อมาเมื่อท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะ เป็นที่พระธรรมกิติ เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕ สถิตอยู่ ณ วัดระฆัง ธนบุรี ท่านได้เริ่มสร้างพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์สี่เหลี่ยมผืนผ้า เป็นลำดับๆ ต่อๆ มา


วันพุธที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

วันนี้ขอแนะนำหนังสือที่ทรงคุณค่าอีกเล่มหนึ่งให้แก่ผู้ที่นิยม และศรัทธาในพระสมเด็จวัดระฆังฯ

หนังสือเล่มนี้ชื่อว่า "อาณาจักรพระเครื่อง ฉบับพระเบญจภาคี" เขียนโดยท่านอ.ปรีชา เอี่ยมธรรม เจ้าของนิตยสารอาณาจักรพระเครื่อง ท่านนับเป็นบรมครูท่านหนึ่งที่มีความรู้จริง และมีประสบการณ์จากการคร่ำหวอดอยู่ในวงการพระเครื่องมาหลายสิบปี เชื่อว่าบทความต่างๆ ที่ท่านได้แนะนำแนวทางในการดูพระสมเด็จฯ ในหนังสือเล่มนี้ จะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านที่ศรัทธาในพระสมเด็จฯ สามารถยึดเป็นแนวทางการศึกษาต่อไป




ขออนุญาตนำบางส่วนบางตอนในหนังสือมาเผยแพร่เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจเรื่องพระสมเด็จฯ ของเจ้าประคุณสมเด็จท่านได้ถูกต้องมากขึ้น

คตินิยมในการสร้างพระสมเด็จฯ หรือพระพิมพ์อื่นๆ เพื่อเป็นพุทธบูชา หรือเพื่อไว้สืบพุทธศาสนานั้น จะต้องสร้างแต่ละครั้งอย่างน้อย ๘๔,๐๐๐ องค์ เท่ากับพระธรรมขันธ์จึงจักควร และเชื่อว่าท่านเจ้าประคุณสมเด็จท่านได้สร้างพระสมเด็จฯ ในแต่ละครั้งไม่ว่าจะสร้างพระสมเด็จที่
. วัดระฆังโฆษิตาราม
. วัดเกศไชโย
. วัดใหม่อมตรส
. วัดขุนอินทประมูล
. วัดสะตือ

ถ้านับรวมกันแล้วจะเป็นจำนวนมหาศาล ถึง ๔๒๐,๐๐๐ องค์
แต่พระสมเด็จฯ ที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันจากในวงการพระเครื่องที่มีการแลกเปลี่ยนหรือเช่าหากัน และจากหนังสือเกี่ยวกับพระเครื่องสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ซึ่งลงซ้ำวนเวียนกันมีไม่เกิน ๑๐๐ องค์ เป็นอย่างมาก

ท่านเคยตั้งข้อสังเกตุกันบ้างหรือไม่ว่าพระที่เหลือเกินจาก ๑๐๐ องค์อยู่ที่ไหน มีคำตอบโดยสรุปว่า พระสมเด็จฯ ก็อยู่กับท่านที่มากด้วยบารมีแต่ท่านเหล่านั้นไม่เคยเอาออกมาให้ได้เห็นกันมาก่อนเลย เป็นความโชคดีของหนังสือเล่มนี้ที่เจ้าของพระยินดีให้นำรูปพระต่างๆ (เป็นเพียงส่วนหนึ่ง) มาลงประกอบเรื่องในหนังสือเล่มนี้

ถ้าท่านเป็นผู้ปฏิบัติดีประพฤติชอบตั้งตัวอยู่ในกรอบแห่ง ทาน ศีล ภาวนา แล้ว ในไม่ช้าความหวังของท่านที่จะได้ครอบครองพระสมเด็จฯ จะสมหวังครับ

หนังสือฉบับนี้เป็นเพียงแนวทางให้ท่านเดินทางไปถึง พระสมเด็จฯ แท้ พระดีย่อมอยู่กับผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบเท่านั้น